100 ปี ดร.เทียม โชควัฒนา 100 ปรัชญาคุณธรรม -ตอนที่ 5

เรียนรู้จากครู

ข้าพเจ้าถือว่าตนเองเรียนมาน้อย รู้น้อย ดังนั้นจึงพยายามจดจำบทเรียนและประสบการณ์ทั้งการค้าและการดำเนินชีวิตจากผู้อื่นเสมอๆ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ยึดถือเป็นแนวทางและป้องกันมิให้ตนเองต้องผิดพลาดและล้มเหลว ตอนนั้น เวลากลางวันข้าพเจ้าทำงานช่วยคุณพ่อที่ร้าน กลางคืนไปเรียนหนังสือ เป็นการเรียนแบบกวดวิชาที่โรงเรียนอึ้งฮุน ในหลักสูตรวิชาชีพครู ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาสูงสุดของโรงเรียนจีนในสมัยนั้น ข้าพเจ้ามีเพื่อนคนหนึ่งเรียนอยู่ชั้นเดียวกัน ชื่อ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ หรือที่ใครๆเรียกกันว่า โค้วตงหมง

คุณครูที่สอนข้าพเจ้าในภาคกลางคืนนั้น ท่านสอนวิชาการที่จำเป็นสำหรับนักเรียน เช่น การแต่งความเรียง ต้องเริ่มด้วยคำนำ ตามด้วยเนื้อความและคำสรุป เป้าหมายเพื่อให้เนื้อเรื่องมีความสมบูรณ์ เพียบพร้อมไปด้วยสาระและบรรยากาศ

คุณครูท่านนี้รู้ว่าเราอ่อนอะไรและอ่อนตรงไหน จึงสอนด้วยความเข้าใจ เนื้อหาตอนใดจำเป็นต้องอธิบายให้ละเอียด อธิบายนานๆ ก็ทำด้วยความตั้งใจ เมื่อใดเห็นว่าเราเบื่อหน่าย คุณครูก็จะมีตัวอย่างแปลกๆมาอธิบายเพื่อสร้างความคึกคัก

เมื่อได้คุณครูเช่นนี้ เรียนทั้งชั่วโมงก็ไม่มีง่วง

อัธยาศัยที่เป็นกันเองระหว่างคุณครูกับนักเรียน ทำให้เราเกิดความสนใจ เมื่อเกิดความสนใจก็ตั้งใจเล่าเรียนและสามารถทำความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียนได้เร็วขึ้น การเล่าเรียนก็ยิ่งเพิ่มความสนุกสนานน่าสนใจ

และเมื่อเรียนมาพอสมควรคุณครูจึงพูดว่า

“นักเรียน เมื่อเธอเรียนถึงเนื้อหาที่ยาก เรามีความจำเป็นต้องใช้วิธีท่องจำ มิฉะนั้น ก็จะเรียนไม่ได้ดี”

ความที่เคยเรียนแบบท่องจำแล้วเกิดความเบื่อหน่าย ข้าพเจ้าแย้งทันที

“คุณครูครับ ไม่มีใครชอบการท่องหรอกครับ”

แต่คุณครูก็ยังเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นจริงจัง เชื่อมั่นว่า

“นักเรียน การท่องจะช่วยความจำ ทำให้การเขียน การแต่งบทความของเธอดีขึ้นได้ ขอให้เชื่อถือครูสักครั้ง”
หนังสือที่คุณครูมอบหมายให้ท่องนั้น เนื้อหาวิชามีความลึกซึ้งมาก การท่องจำจึงกระทำด้วยความลำบาก แต่อาศัยวิธีการแนะนำของคุณครูและความเข้าใจที่มีอยู่เป็นทุนเดิม เมื่อท่องหลายครั้งก็จำได้ดีขึ้น ประกอบกับพวกเราเคารพและรักคุณครู จึงมุมานะเพื่อทำให้ท่านพอใจ

เนื้อหาของหนังสือที่ยาว ก็ใช้วิธีแบ่งออกเป็น 4 ตอนด้วยกัน ท่องเป็นตอนๆ หนึ่ง สอง สาม สี่ จากนั้นค่อยท่องรวดเดียวทั้ง 4 ตอน บางบทที่ยาวมาก ก็แบ่งออกเป็นข้อๆ รวม 12 ข้อ ท่องครั้งละ 3 ข้อ จากนั้นค่อยท่องรวมกันรวดเดียว

การหาวิธีท่องจำอย่างเอาการเอางานก็ปรากฏผล สามารถท่องได้คล่องแคล่ว จะเขียนจะแต่งข้อความอะไรก็ไหลลื่นออกมาเอง โดยไม่ทันคิดด้วยซ้ำไป

จึงเห็นได้ว่า พื้นฐานที่เริ่มจากความรัก ความสนใจ ความเข้าใจ และความอดทน สามารถแปรเปลี่ยนความยากให้เป็นความง่ายได้

คุณครูท่านได้สอนหลักการสำคัญในการทำงาน และในการดำเนินชีวิต ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าอย่างสูงในระยะต่อมาของชีวิต

ท่านสอนว่า ในการทำงานแต่ละอย่าง ไม่ว่างานนั้นๆ จะมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ก่อนลงมือทำจะต้องคิดพิจารณาและคำนึงถึงหลัก 4 ประการ

ประการที่หนึ่ง งานนั้นจะสามารถทำให้สำเร็จลุล่วงไปภายในเวลาอันรวด เร็ว ได้หรือไม่ งานบางอย่างเป็นงานี่รีรอชักช้าไม่ได้ ต้องรีบทำ เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ต้องตัดสินใจเร็ว แก้ไขเร็ว ทำให้จบเร็ว ไม่เช่นนั้นปัญหาที่มีอยู่อาจลุกลามไปใหญ่โตกว้างขวางหรือโอกาสที่มีอยู่อาจสูญเสียไป

ประการที่สอง งานนั้นถ้าทำแล้วจะเสร็จ ช้า นานเวลาใด งานบางอย่างเป็นงานที่ผลีผลามใจร้อนไม่ได้ก็ไม่ควรจะรีบร้อน ต้องใช้เวลาในการแก้ไข พิจารณาอย่างรอบคอบ ค่อยเป็นค่อยไป จะได้ไม่ผิดพลาดบกพร่อง

ประการที่สาม งานนั้นเป็นงานที่ หนัก หรือไม่ งานบางอย่างถ้าจะทำแล้วต้องโหมหนักเอาจริงเอาจังเพราะมีการแข่งขันสูง อาจจำเป็นต้องต่อสู้อย่างรุนแรง นี่คือสิ่งที่ต้องทำอย่างหนักหน่วง

ประการที่สี่ งานนั้นเป็นงานที่ เบา หรือไม่ งานบางอย่างบางเวลาจะโหมเลยทันทีก็ไม่ได้ ที่เคยทำหนักอาจต้องผ่อนลงมา เพราะถ้าทุ่มเทเกินไปก็เสียเวลาและไม่ได้ประโยชน์ งานอย่างนี้ก็ต้องทุ่มเทแต่พอควร

“จะว่าไปแล้ว หลักการนี้ นักเรียนสามารถจดจำง่ายๆ สั้นๆ เพียง เร็ว-ช้า-หนัก-เบา”

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ "นโยบายความเป็นส่วนตัว" และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save