รู้น้อยไม่เกี่ยงงาน
นับตั้งแต่พุทธศักราช 2470 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของโลกประสบวิกฤตและเสื่อมทรุดลงอย่างร้ายแรง จากนั้นค่อยๆส่งผลกระทบประเทศของเราหนักหน่วงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
มีข่าวปรากฏให้เกิดความตระหนกหวาดหวั่นไปทั่วว่าในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศใหญ่ มีความเจริญและความมั่งคั่งยิ่งกว่าเรา รัฐบาลของเขาต้องตัดสินใจนำสินค้าที่ล้นตลาดเพราะประชาชนขาดกำลังซื้อไปเผาไฟและทิ้งทะเล เพื่อช่วยเหลือชาวไร่ชาวนา
ในต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 รัฐบาลประสบปัญหาทางการคลังจนถึงกับต้องตัดงบประมาณ และให้ข้าราชกาลออกเป็นจำนวนมากดังที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ถูกดุล” ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทำให้เกิดระบบขายสินค้าผ่อนส่งขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ครอบครัวของเราใช่ว่าจะไม่ได้รับผลจากสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลก แต่คุณพ่อเป็นคนเข้มงวด รอบคอบ เห็นการณ์ไกล การปฏิบัติตนของคุณพ่อเวลานั้นจึงเป็นบทเรียนอันมีค่าสำหรับข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามีอายุ 15 ปี ในปีพุทธศักราช 2474 เป็นช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภายในครอบครัว ข้าพเจ้าตระหนักในความรู้สึกของตนเองว่ามีความรักความเคารพในตัวคุณพ่อ ความรักความเคารพนั้นท่วมท้นมาก จนพอที่จะยอมลาออกจากโรงเรียนเพื่อที่จะได้ช่วยท่านทำงานขณะที่ญาติพี่น้องยังคงเรียนหนังสือต่อไป
ข้าพเจ้าจึงยังเป็นคนมีความรู้น้อย เพราะต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยคุณพ่อค้าขายในภาวะที่ตลาดซบเซา ต้องทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นกุลี เป็นจับกัง เป็นพนักงานขาย
ข้าพเจ้าทำงานแต่ละอย่างด้วยความทรหดอดทน ต้องคอยปลุกปลอบให้กำลังใจตนเองอยู่ตลอดเวลา
“เราเป็นคนมีความรู้น้อย เราต้องไม่เกี่ยงงานในทุกหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย”
“เราไม่มีพื้นฐาน เราจะต้องไม่ย่อท้อ”
ดังนั้น สำหรับชีวิตในวัย 15 ปีของข้าพเจ้า วันทั้งวัน สัปดาห์ทั้งสัปดาห์ เดือนทั้งเดือน จึงมีแต่มุมานะทำงานหนัก ตรากตรำอยู่กับงาน และครุ่นคิดเสมือนเป็นการเตือนใจของตนว่า
“วันนี้ทำงานเต็มที่หรือยัง ถ้ายังก็จะต้องทำเพิ่มเติม”
จากการทุ่มเทกำลังทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง วันเวลาที่ผ่านได้กลายเป็นพื้นฐานและประสบการณ์ของชีวิต งานอันหนักหน่วงกลับกลายเป็นบำเหน็จรางวัลสำหรับข้าพเจ้า เป็นสมบัติที่มิอาจมีใครสามารถแย่งชิงเอาไปได้อย่างเด็ดขาด
สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กนักเรียนอยู่โรงเรียนเผยอิง ยังจดจำเหตุการณ์หนึ่งได้ตราบเท่าทุกวันนี้ ข้าพเจ้าเคยขอเงินจำนวนหนึ่งจากคุณพ่อ
คุณพ่อถามว่า “ไปซื้ออะไร”
“ผมจะเอาไปซื้อกระดาษมาหัดวาดเขียนรูป” ข้าพเจ้าตอบ
“จะเขียนรูปไปทำไม” คุณพ่อตั้งคำถามเพื่อที่จะตอบอย่างตัดบทว่า
“การจะเขียนรูปไม่สามารถทำให้ท้องอิ่มได้”
นี่คือบทสรุปอันรวบรัดของคุณพ่อ
หรือแม้แต่การฝึกร้องเพลงหรือการเล่นดนตรีก็เช่นเดียวกัน เวลาที่ข้าพเจ้าขอคำปรึกษา คำตอบจากคุณพ่อคือ “การร้องเพลงก็ไม่มีประโยชน์”
ลมหายใจเข้าออกของคุณพ่อคือการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงกงสีที่ประกอบด้วยครอบครัวของคุณพ่อ และครอบครัวของน้องคุณพ่ออีก 6 ครอบครัว และญาติอื่นๆที่มาอาศัยอยู่
จากสภาพที่คุณพ่อเข้มงวดกวดขันอย่างจริงจังเช่นนั้น ทำให้ข้าพเจ้าเป็นคนไม่มีความรู้ความเข้าใจในศิลปะด้านวาดเขียนและดนตรี
อีกด้านหนึ่ง ข้าพเจ้าได้นำบางอย่างที่คุณพ่อให้มาเสมือนเป็นสิ่งทดแทน
วัยเด็กของข้าพเจ้าจึงมิใช่วันเวลาแห่งการสนุกสนานพักผ่อน หากแต่เป็นวันเวลาของการทำงานหนัก ไม่เพียงแต่การร้องเพลงและการเขียนรูปเท่านั้นที่คุณพ่อมิได้ส่งเสริม ทุกครั้งที่เพื่อนๆ ชวนไปเล่นกีฬา วิ่งเล่น เมื่อข้าพเจ้าไปขออนุญาตคุณพ่อ คำตอบที่ได้รับคือ
“ถ้าอยากออกกำลังกายในโกดังของเรามีนมกระป๋องและแป้งหมี่อยู่เป็นจำนวนมาก ไปออกแรงขนนมและแป้งหมี่จะดีกว่า ได้ออกกำลังกายแล้วยังไม่ต้องเสียเงินเสียทองด้วย”
เวลานั้น ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าไปช่วยขนของในโกดัง แทนที่จะไปวิ่งเล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน คุณพ่อจะแสดงว่าดีใจเป็นอย่างมาก พร่ำพูดไม่ขาดปากว่า
“คนเราถ้ามีร่างกายแข็งแรงก็ไม่กลัวอดตาย ดูสิ คนแข็งแรงอย่างลูกถึงยังไงก็สามารถทำงานเป็นกุลีได้ ได้เงินค่าจ้างถึง 22 บาทต่อเดือนนะ”
ทุกวันนี้ข้าพเจ้าอายุ 70 กว่าปี แต่สุขภาพของข้าพเจ้ายังสมบูรณ์ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้กระเสาะกระแสะ น่าจะเป็นเพราะการทำงานอย่างหนัก ทรหดอดทนตั้งแต่วัยเด็ก